5 วิธีในการอ่านสัญญาณการซื้อของลูกค้า
อยากทราบหรือไม่ครับว่าสิ่งที่คุณนำเสนอไปนั้นถูกใจลูกค้าหรือไม่
แน่นอนว่านักขายทุกคนต้องอยากอ่านสัญญาณลูกค้าให้ขาดกันทั้งนั้น
อย่างไรก็ตาม บางครั้งลูกค้าอาจสงวนท่าทีไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม
บางคนอาจจะไม่ได้สนใจสิ่งที่เราขายมากนัก
บางคนอาจจะแกล้งทำเป็นสน
บางคนสนใจมาก แต่ทำเป็นฟอร์มนิ่งเพื่อสร้างความเป็นต่อ
เรียกว่าสัญญาณจริงๆนั้นออกได้หลายหน้ามากๆ
ในบทความนี้จะมาแนะนำ 5 วิธีที่ใช้เพื่ออ่านสัญญาณลูกค้าได้ละเอียดและชัดเจนขึ้น มาติดตามวิธีที่ว่าดังกล่าวกันเลยครับ
1) ถาม Feedback ตรงๆหลังการนำเสนอ
บางครั้งไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าการถามตรงๆ
ลองดูสคริปต์ง่ายๆประมาณนี้ครับ
- “จากที่นำเสนอไป ลูกค้ามองว่าอย่างไรบ้างครับ”
- “ไม่ทราบคุณลูกค้ามองว่าการบริการของเราน่าจะช่วยลูกค้าในมุมไหนได้บ้างครับ”
- “ไม่ทราบคุณลูกค้าชอบผลิตภัณฑ์ที่เราเพิ่งนำเสนอไปหรือไม่ครับ”
ใช่แล้วครับ บางครั้งนักขายก็แค่ปากหนักและไม่ได้ถามตรงๆ
การถามตรงๆเช่นนี้ทุกครั้งไม่มีอะไรจะเสียและทำให้คุณอ่านสัญญาณการซื้อได้ละเอียดขึ้น
2) เปรียบเทียบ
ถือโอกาสให้ลูกค้าได้ลองเปรียบเทียบกันตรงๆกับเจ้าที่ใช้บริการเลย
ตัวอย่างสคริปต์ประมาณนี้ครับ
“ถ้าเปรียบเทียบกับเจ้าที่ใช้อยู่ ไม่ทราบลูกค้ามองว่ามีจุดไหนที่จะทำให้ง่ายขึ้นหรือสะดวกขึ้นบ้างครับ”
สคริปต์นี้นอกจากจะอ่านสัญญาณได้แล้วยังช่วยปิดการขายได้กลายๆ
ตรงนี้จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากๆในกรณีที่เรามั่นใจว่าบริการของเราชนะขาด
เหมือนกับเป็นการให้ลูกค้าได้ยอมรับออกมาเองว่าของเราดีจริง
ในทางจิตวิทยาจะช่วยเพิ่มโอกาสในการปิดการขายได้มากกว่าแค่เราอวยตัวเอง
3) ถามระยะเวลา
เช่นถามว่า “ไม่ทราบลูกค้าอยากจะได้สินค้าหรือบริการไปใช้ประมาณช่วงไหนครับ”
คำถามในแง่นี้จะทำให้เราอ่านสัญญาณความกระตือรือร้นของลูกค้าได้
ถ้าลูกค้ามีแนวโน้มว่าจะต้องรีบตัดสินใจก็อาจจะเข้าทางเรา
แต่ถ้าถามแล้วลูกค้าดูเฉยๆและยังไม่รีบ นั่นอาจหมายความว่าลูกค้ายังไม่ได้รู้สึกมากพอถึงความเร่งด่วนในการซื้อสินค้าหรือบริการของเรา
นอกจากนั้นจะช่วยให้เราช่วยวางแผนได้ถูกในกรณีที่ลูกค้ามีแนวโน้มจะซื้อเราสูง
การถามเรื่องระยะเวลาที่ว่านั้นจะเอื้ออำนวยให้เราเริ่มเตรียมตัวบางอย่างเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าก่อนได้เลย
บางคนใช้คำตอบดังกล่าวเพื่อไปทำการบ้านเพิ่มเสมือนหนึ่งลูกค้าได้ตัดสินใจซื้อเราไปแล้ว
จุดประสงค์คือเพื่อเอาการบ้านดังกล่าวไปอัพเดทลูกค้าเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการตัดสินใจ
เรียกว่าได้ทั้งสัญญาณการซื้อและได้ทั้งการบ้านไปทำเพิ่มเพื่อเพิ่มโอกาสในการปิดการขายเลยทีเดียว
4) มี Action Plan ร่วมกันต่อจากนั้น
ยกตัวอย่างเช่น
- เอาสินค้าตัวอย่างมาทดลอง
- เอารายละเอียดเพิ่มเติมมาให้ดู
- เชิญลูกค้ามาเยี่ยมชมโรงงาน
- พาลูกค้าไปชมหน้างานของรายอื่น
นี่คือตัวอย่างของการมี Action Plan ร่วมกัน
กล่าวคือมีการเชื้อเชิญให้ลูกค้าได้ลองทำอะไรบางอย่างที่ทำให้การขายของเราคืบหน้า
โดย Action Plan เหล่านั้นเป็นสิ่งที่เราและลูกค้าทำร่วมกัน
นี่คืออีกหนึ่งวิธีในการเช็คสัญญาณการซื้อได้ละเอียดขึ้น
5) เช็คจากตัวละครอื่นๆ
เช่นคุณคุยกับลูกค้าแผนกจัดซื้อ
แต่เค้าอาจจะรู้แกวและไม่ยอมเผยให้เห็นสัญาณการซื้อ
ดังนั้นอีกวิธีหนึ่งคือการถามจากตัวละคนอื่นๆในองค์กรนั้นที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
เช่นถามจากผู้ใช้งานที่อาจจะได้ร่วมพิจารณาในการตัดสินใจซื้อสินค้าของคุณเป็นต้น
อย่าลืมว่าการขายงานเข้าองค์กรโดยเฉพาะลูกค้ารายใหญ่นั้นอาจมีตัวละครมากกว่า 1 คนเสมอที่คุณสามารถเข้าถึงได้
ต้องไม่ลืมใช้ประโยชน์จากตรงนี้ด้วย
บทสรุป
นักขายคนไหนก็ตามที่อ่านสัญญาณลูกค้าได้ขาดก็มีโอกาสในการปิดการขายที่สูงขึ้น
มีหลายวิธีที่จะใช้อ่านสัญญาณลูกค้าได้ชัดเจนขึ้นดังนี้
ข้อแรกคือลองถาม feedback ลูกค้าตรงๆเลยว่าชอบหรือไม่ชอบสิ่งที่เราเสนอ
ข้อสองคือให้ลูกค้าลองเปรียบเทียบให้ฟังว่าบริการของเรากับสิ่งที่ลูกค้าใช้บริการอยู่ปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง
ข้อสามคือลองถามลูกค้าว่าอยากใช้บริการประมาณช่วงไหนเพื่อเช็คดูว่าต้องการซื้อจริงหรือไม่
ข้อสี่คือพยายามให้เกิด activity บางอย่างร่วมกับลูกค้าต่อจากนั้นเพื่อดูความสนใจ
และข้อสุดท้ายคือการถาม feedback จากคนอื่นๆในองค์กร
เชื่อว่าต้องมีวิธีใดวิธีหนึ่งที่คุณประยุกต์ใช้ได้และจะเป็นประโยชน์ต่อการขายอย่างแน่นอนครับ